สมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567

กสม. จัดสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ผลักดันข้อเสนอเรื่องสิทธิในสิ่งแวดล้อมรับวิกฤติโลก สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร และคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุด้านหลักประกันรายได้เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี


วันที่ 19 – 20 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงาน “สมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “Our Rights Our Future สิทธิของเรา อนาคตของเรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะเชิงระบบในการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า งานสิทธิมนุษยชนมีขอบเขตที่กว้างขวางซึ่งไม่สามารถดำเนินงานให้ลุล่วงได้เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง กสม. จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการขับเคลื่อนงาน จึงเป็นที่มาของการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยการจัดงานสมัชชาฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ การขับเคลื่อนให้มีการแยกประวัติอาชญากรรม


ซึ่งจะทำให้ผู้พ้นโทษได้รับโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี หรือการผลักดันให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยเพื่อสิทธิในการสร้างครอบครัวของคนทุกเพศ โดยในปี 2567 นี้ สมัชชาสิทธิมนุษยชนจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิผู้สูงอายุ และในปีข้างหน้า กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องสิทธิสำหรับอนาคต ทั้งสิทธิแรงงานอิสระ สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิผู้สูงอายุซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับเราทุกคน

ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยพูดถึงประสบการณ์การทำงานในการให้ความช่วยเหลือคนที่ไร้สิทธิสถานะบุคคลซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน และโครงการตามหาคนหาย อันสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนที่ไม่สมควรถูกแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือสถานะอื่นใด

จากนั้น ภาคีเครือข่ายได้นำเสนอข้อมติและข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาและจากการหารือในเวทีสมัชชากลุ่มย่อยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ใน 3 ประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้


(1) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือวิกฤติโลกเดือดในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวัฏจักรของน้ำที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อสิทธิมนุษยชนของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยมีความกังวลว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาจเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงการที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น โครงการโรงไฟฟานิวเคลียร์ โครงการพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและสิทธิชุมชนได้

จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ให้จัดทำกฎหมายและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศบนฐานของสิทธิมนุษยชน โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็กและเยาวชน ผู้หญิง เกษตรกรในชนบท ชุมชนชายฝั่ง ชุมชนประมงพื้นบ้าน ชนพื้นเมือง เข้ามามีส่วนในการร่างกฎหมาย ผลักดันให้มีการรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ รวมตลอดทั้งสนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทบทวนการนำกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตมาใช้ เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าไม่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง เอื้อให้เกิดการฟอกเขียว และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินและป่าไม้จากชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รับรองสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยอาจแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทและอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ให้ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย

(2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การซ้อมทหารเกณฑ์และผู้ต้องหา การดำเนินคดีล่าช้าจนคดีขาดอายุความ ปัญหาการพ้นผิดลอยนวล รวมถึงการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายหรือการมีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย จึงมีข้อเสนอให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร เช่น ขับเคลื่อนให้นำแผนพัฒนาสถานีตำรวจซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสม. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาแนวทางการคุ้มครองให้ผู้ต้องหาในคดีอาญามีทนายความตั้งแต่ชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนทุกขั้นตอน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการสอบสวน โดยเพิ่มขีดความสามารถและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่พนักงานสอบสวน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยให้จัดทำอนุบัญญัติและรวบรวมปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะการบันทึกภาพและเสียง การเก็บรักษา การแจ้งการควบคุมตัว รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดย กสม. ได้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาแนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) และมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ให้สอดคล้องตาม OPCAT แล้ว

(3) สิทธิผู้สูงอายุ เห็นว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยพบว่ายังมีช่องว่างในการประกันสิทธิพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีสนธิสัญญาหรือมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในทุกมิติ และป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ (age discrimination) ประกันสิทธิเกี่ยวกับหลักประกันรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพและจัดให้มีการออมภาคบังคับที่เหมาะสมสำหรับแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ รวมทั้งสร้างระบบการออมระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณงาน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อส่งเสริมการจ้างและขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งบรรจุนโยบายเรื่องการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างมีความสุข (ageing in place) ไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนงานทุกระดับ โดยระดมทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสถานที่และบริการสาธารณะของผู้สูงอายุตามหลักอารยสถาปัตย์ ที่สะดวก ปลอดภัย และเหมาะสม

นอกจากนี้ ในเวทียังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยการจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีชี้วัดสิทธิมนุษยชน ของ กสม. รวมทั้งการนำเสนอผลการส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยการจัดทำแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา มีองค์กรนำร่องจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยสถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 19 องค์กร ที่ได้ประกาศแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่ทำงานในองค์กรนั้น ๆ แล้ว

ทั้งนี้ ในงานยังมีพิธีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 – 2567 รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล ได้แก่ (1) นายเอกชัย อิสระทะ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเขาคูหา (2) นางพัทยา เรือนแก้ว ประธานสมาคมเครือข่ายคนไทยในต่างแดน ประเทศเยอรมนี (3) นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) (4) นายนิติธร ทองธีรกุล ผู้ชำนาญการอาวุโส สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา Thai PBS ศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชน (5) เครือข่ายแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ (6) นางสาวนุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ (7) องค์การบริหารส่วนตำบลจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ (8) มูลนิธิกระจกเงา และ (9) นายมนตรี อุดมพงษ์ รักษาการบรรณาธิการข่าว 3 มิติ

ในช่วงสุดท้ายของเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตที่ทุกคนเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียม และดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและสมานฉันท์





เข้าชม 17 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม