เป็นครั้งแรกที่ “เซราห์ ซาเวจ” ที่มีความบกพร่องทางสายตา คือมองเห็นแค่รางๆ ได้มาดูหนังในโรงหนัง โดยอาศัยแอพลิเคชั่น MovieReading เป็นตัวช่วยสำคัญ
เพียงแค่เธอเปิดแอพลิเคชั่น เสียบหูฟัง แล้วก็เลือกรายชื่อหนังให้ตรงกับหนังที่เข้าไปดู เจ้าแอพลิเคชั่นที่ว่านี้ก็จะเป็นทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนข้างกาย ที่คอยบรรยายเหตุการณ์และการกระทำของตัวละครไปพร้อมๆ กับภาพที่ฉายอยู่บนจอ ที่สำคัญคือไม่รบกวนคนดูหนังที่นั่งข้างๆ อีกด้วยเทียบกับเมื่อก่อนเวลาดูหนังที่บ้านเธอต้งอคอยถามสามีว่า ตัวละครทำอะไร เกิดอะไรขึ้น ซึ่งถือว่ารบกวนการดูหนังของสามีไม่น้อย
ถึงเทคโนโลยีการบรรยายเสียงเพื่อผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้สามารถรับชมโทรทัศน์หรือดูหนังในโรงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นี่คือครั้งแรกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับกับสมาร์ทโฟน แม้ว่าตอนนี้จะยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหนังที่มีเสียงบรรยายก็ตาม
ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ไม่เพียงสะดวกสบาย แต่ยังเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม และเหมาะกับชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการวัดสายตาและประกอบแว่นชาวออสเตรเลีย “ลุค ฮิกกินส์” ที่บอกว่า จริงๆ แล้วผู้มีปัญหาหรือพิการทางสายตา ก็อยากทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนๆ กับที่คนตาดีทำนั่นแหละ พร้อมยังวิเคราะห์ด้วยว่าการใช้งานระบบบรรยายเสียงอัตโนมัติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่สายตาเสื่อมไปตามวัย ซึ่งจากข้อมูลของ Vision Australia หน่วยงานไม่แสวงหากำไรเพื่อผู้พิการทางสายตาของประเทศออสเตรเลีย ก็ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวออสเตรเลียที่พิการทางสายตาหรือปัญหาทางการมองเห็น ราว 357,000 คน