Art Today : “แม่ครูราตรี” กับใจที่รักในหมอลำ

“ศิลปินทุกสาขาพาให้สุข ถึงจะทุกข์แต่กายใจไม่เหงา ถือเป็นจิตวิญญาณคนอีสานบ้านเฮา ฝากลูกเต้าได้จดจำเป็นตำนาน เป็นหมอลำก็แต่ชื่อคือหมอลำนี้ อันเป็นจริงอีหลีคือศิลปะชาวอีสาน โปรดจงช่วยพยุงไว้ให้ยืนนาน เพื่อลูกหลานได้สืบทอด ตลอดไป” คำกลอนบทนี้ถือเป็นคำขวัญประจำตัวของ “ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร” หรือ “แม่ครูราตรี” ศิลปินพื้นบ้านอีสาน หมอลำดังของเมืองขอนแก่น


แม่ครูราตรีศรีวิไลเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อ แม่ และพี่น้องเป็นศิลปินหมอลำ จึงเกิดการซึมซับและเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น ถึงแม้ว่าจะอยากเรียนหนังสือก็ได้เรียนแค่ ป.4 เพราะต้องออกมาเป็นหมอลำเพื่อช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว แม่ครูราตรีเริ่มออกงานแสดงคนเดียวตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเริ่มจากการเป็นหมอลำกลอน ทำงานตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนถึงเช้า แม้จะเหนื่อยแต่ก็สนุกและมีความสุขกับงาน เพราะรู้สึกว่าสามารถทำให้ผู้ชมมีความสุขและสนุกไปด้วยกันได้ จากที่ไม่เคยคิดอยากเป็นหมอลำก็กลับกลายเป็นความภูมิใจที่ได้เจริญรอยตามพ่อกับแม่

ปัจจุบันแม่ครูราตรีเรียนจบปริญญาเอก จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และได้นำความรู้ด้านวิชาการมาต่อยอดภูมิปัญญาด้านหมอลำที่ได้รับมรดกมาจากพ่อกับแม่ เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้ลูกหลาน นอกจานี้แม่ครูราตรีศรีวิไลยังได้รับคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 บ้านของแม่ครูจึงกลายเป็นศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยครูราตรีศรีวิไล หรือที่บางคนเรียกว่าโรงเรียนหมอลำแม่ราตรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นจุดศูนย์รวมให้เด็ก ๆ ที่สนใจหมอลำมาเรียน ที่นี่สอนตั้งแต่จรรยาบรรณของหมอลำ การแต่งกาย ท่าทางประกอบการรำ รวมทั้งภาพรวมการแสดง ซึ่งการจะเป็นหมอลำได้นั้น ถ้าเป็นคนภาคอื่นก็ต้องรู้ภาษาอีสาน และสิ่งสำคัญคือการมีใจที่รักในหมอลำ”


แม่ครูราตรีเล่าว่า การเรียนการสอนหมอลำทุกวันนี้จะแตกต่างจากสมัยก่อน โดยการเรียนการสอนหมอลำแบบเดิมนั้น ปีหนึ่งจะมีลูกศิษย์มาเรียนกับพ่อแม่ของครูราตรีประมาณ 20-30 คน ซึ่งถือว่าเยอะแล้ว เพราะแต่ละคนต้องทำนาหาเลี้ยงชีพด้วย ส่วนการเรียนหมอลำในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้มีสื่อออนไลน์มากมายหลายช่องทางให้ได้เรียนรู้ หลาย ๆ คนที่มีความชื่นชอบและสนใจหมอลำ สามารถเรียนรู้หมอลำได้ง่ายขึ้น แม่ครูราตรีจึงได้เปิดห้องเรียนฟรีทางสื่อออนไลน์ด้วยเช่นกัน ในแต่ละปีมีลูกศิษย์มาเรียนเป็นพันคน จะมีแค่นักเรียนบางกลุ่มที่เรียนทางออนไลน์แล้วอยากเข้ามาฝึกซ้อมและเรียนตัวต่อตัวกับแม่ครู ซึ่งบางคนไม่ได้เรียนถึงขั้นเอาไปประกอบอาชีพ แต่ก็ได้ความรู้พื้นฐานของหมอลำเอาไปต่อยอดในงานแขนงอื่น “หมออีหลีตัวนี่ ลำเป็นอีหลีตัวนี่ แต่งตัวก็งาม ลำก็ม่วน เว่าก็ม่วน” คือสิ่งที่แม่ครูราตรี ฝากถึงลูกหลานเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สานต่อวัฒนธรรม เพราะหมอลำนั้นนอกจากจะทำให้ผู้ชมมีความสุขแล้ว การร้องหมอลำต้องอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมอันดีงามด้วย :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 291 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม