Art Today : “ครูพงศ์” ผู้ถ่ายทอดดนตรีอีสาน-โปงลางสู่เด็กรุ่นใหม่

เพราะชื่นชอบศิลปะดนตรีและขนบธรรมเนียมของชาวอีสานมาตั้งแต่เด็ก “จักรพงศ์ เพ็ชรแสน” หรือ “ครูพงศ์” ก็ขอเปลี่ยนบทบาทจากผู้ฟังเป็นผู้เล่น โดยเริ่มฝึกฝนเรียนรู้กับครูดนตรีพื้นบ้านอีสานจนจบหลักสูตรการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมด้านการขับร้องหมอลำและหมอแคน จนมีโอกาสได้ร่วมวงดนตรีโปงลางยุคแรก ๆ ของชาวอีสาน ที่มีการผสมผสานเครื่องดนตรีทางตะวันตกร่วมด้วย ทั้งยังได้เป็นตัวแทนไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังเคยเป็นสมาชิกร่วมวงโปงลางสะออนที่โด่งดัง แต่หลังอยู่กับวงมา 10 ปี ก็ขอลาออกกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิดจังหวัดขอนแก่น และทำวงโปงลางหนุ่มปริญญาสาวมหาลัย


เมื่อคิดยึดเป็นอาชีพก็ถูกผู้ใหญ่มองว่าศิลปินเป็นอาชีพที่ไม่ยั่งยืน ครูพงศ์เลยคิดประดิษฐ์เครื่องดนตรี โดยเริ่มจากการทำกลองที่เคยไปเรียนมาจาก จ.อ่างทอง และเริ่มศึกษาอย่างจริงจังในการผลิตกลองและโปงลาง ซึ่งกลองแต่ละที่เป็นภูมิปัญญาคนละแขนง มีจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกัน ครูพงศ์จึงต้องรวบรวมข้อบกพร่องของแต่ละที่เอามาประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับการใช้งานในปัจจุบัน ส่วนการทำโปงลางนั้นครูพงศ์มีโอกาสเรียนรู้จาก “ครูเปลื้อง ฉายรัศมี” ศิลปินแห่งชาติ และเป็นครูผู้ศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุง และพัฒนาโปงลาง ครูพงศ์บอกว่าการทำโปงลางไม่ใช่เรื่องยาก บางครั้งมีนักศึกษาลงพื้นที่มาเก็บงานวิจัยโปงลาง ดูขั้นตอนวิธีการทำโปงลาง ครูก็ถ่ายทอดให้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจโปงลางมากขึ้น มีวงโปงลางเกิดขึ้นแทบทุกโรงเรียน ประเมินได้จากการประกวดแข่งขันซึ่งครูพงศ์มีโอกาสได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน และเห็นว่ามีวงโปงลางเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยๆ 200 วง และการที่ครูพงศ์มีอาชีพผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานทั้งโปงลางและกลอง ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นั่นเป็นการบ่งบอกว่าศิลปพื้นบ้านอีสานไม่ได้สูญหาย แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือการกลายพันธุ์ การพัฒนาปรับเปลี่ยนศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานที่เกินขอบเขต ทำให้เด็กลืมรากเหง้าแบบดั้งเดิม คนเป็นครูจึงต้องศึกษาให้ชัดเจนและเข้าใจบริบทในอดีต ปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่อนาคต


แม้โปงลางจะเป็นเพียงเครื่องดนตรีประกอบในวงโปงลาง เพราะมีพิณเป็นตัวดำเนินทำนองหลัก แต่ถ้าวงโปงลางขาดโปงลางไปก็ไม่เรียกว่าวงโปงลาง การตีโปงลางจะต้องอาศัยความชำนาญ ด้วยโปงลางเป็นดนตรีเสียงสั้น แต่เสียงพิณเป็นเสียงยาว พอมารวมกัน จึงมีทั้งเสียงสั้นและเสียงยาว เกิดความนุ่มนวล อ่อนหวาน และแข็งกระด้างอยู่ในตัว ทำให้มีอรรถรสที่เกิดจากการรวมตัวที่เรียกว่า วงโปงลาง


เอกลักษณ์ของโปงลางคืออาศัยความเป็นวัฒนธรรม รูปแบบการนำเสนอ หยิบยกเอาประเด็นทางสังคมเข้ามา บางครั้งศิลปะที่เรานำเสนอไปไม่จำเป็นจะต้องเป็นการสนทนาพูดจาสื่อภาษา แต่เราสามารถสื่อสารด้วยการแสดง ด้วยการการร่ายรำได้ สิ่งนี้คือฑูตทางวัฒนธรรมที่สวยงามที่สุด แม้หลายคนจะพูดว่า วัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน วัฒนธรรมไทยกำลังจะถูกกลืนกินด้วยวัฒนธรรมตะวันตก แต่ครูพงศ์ผู้คลุกคลีอยู่กับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานกลับมองด้วยความภูมิใจว่า ณ ปัจจุบันนี้ ดนตรีพื้นบ้านอีสาน กำลังจะกลืนกินวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ 2 ฝั่งโขง รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในอาเซียนด้วยซ้ำไป



เข้าชม 552 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม