“เพราะเคยเป็นเด็กด้อยโอกาสจึงอยากให้โอกาสกับเด็กทุกคน” เป็นสิ่งที่ครู “เผ – สะเทื้อน นาคเมือง” ครูจิตอาสาเจ้าของรางวัล “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปฏิบัติตนมาตลอด 20 กว่าปี ที่ใช้วิชาความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ร้อง ลำ เล่นลิเก ฝึกฝนเด็ก ๆ ด้อยโอกาสในย่านอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง ให้รู้รักษ์ในศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทย และใช้เป็นวิชาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต
“ในชีวิตไม่เคยคิดจะเป็นลิเก” ครูเผเอ่ยถึงอดีตเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นให้ฟังว่า ได้โควต้าเรียนวิทยาลัยครูนครสวรรค์ แต่ก็ต้องออกมากลางครันเพราะแม่ล้มป่วย จึงต้องมาช่วยทำมาหากิน เลือดศิลปินทำให้ครูเผตัดสินใจดำเนินรอยตามแม่ ด้วยการรับจ้างเล่นลิเกตามคณะต่าง ๆ และชีวิตก็ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อได้มาทำหน้าที่ครูจิตอาสา สอนนาฏศิลป์ให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่บ้านเกิด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร การเป็นครูจิตอาสาทำให้ครูเผได้พบเห็นเด็กด้อยโอกาสที่มีปัญหาเรื่องฐานะยากจน บางคนก็ครอบครัวแตกแยก กลายเป็นเด็กเกเรที่สร้างปัญหาให้กับสังคม ครูเผจึงคิดช่วยเด็กเหล่านั้นด้วยการนำมาฝึกเล่นลิเก เพื่อให้เด็กใช้เวลาว่างเกิดเป็นประโยชน์ ไม่ไปทำในสิ่งที่จะสร้างโทษทัณฑ์ต่อตนเองและสังคม อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเด็กไปจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
“ครูเคยเป็นเด็กด้อยโอกาส” สิ่งนี้เองที่กระตุ้นให้ครูเผเป็นผู้มอบโอกาสให้กับคนอื่นบ้าง 22 ปีกับการเป็นครูผู้ให้ ครูเผได้รับทั้งคำชื่นชมยินดี ซึ่งการันตีด้วยรางวัล “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และได้รับทั้งคำติฉินที่กล่าวหาว่าครูใช้เด็กมาทำมาหากินเพื่อตัวเอง แม้จะต้องเสียน้ำตาให้กับคำด่าว่ามานับครั้งไม่ถ้วน ท้อแท้กับอุปสรรคนานาประการที่ผ่านเข้ามา แต่ครูเผก็ไม่เลิกราจากสิ่งที่ทำอยู่ เพราะรู้ว่าหยุดไม่ได้ ทิ้งไปก็ไม่ดี รอยยิ้มและความสุขของเด็ก ๆ ที่มีครูเผคอยประคับประคองชีวิตให้อยู่ในร่องรอยของความดีงาม เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ครูเผเดินหน้าถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้เด็ก ๆ ได้มีวิชาติดตัวต่อไป
“ยอมอดให้เด็กได้อิ่ม” เพราะไม่เคยเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร ครูเผจึงต้องแบ่งเวลาจากการสอนลิเก มาทำขนมหวานไปขายที่ตลาดนัด เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัวเล็กๆ แหล่งรวมเด็กด้อยโอกาส ซึ่งจากในสภาพการณ์ตอนนี้ รายได้จากการขายขนมอาจจะเป็นรายได้หลักแทนงานแสดงลิเกที่ลดน้อยถอยลงไปในทุกวัน “ขอเป็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมน” ครูเผไม่ได้คิดว่าตนเองจะเป็นสปอตไลท์ส่องทางชีวิตให้กับใคร แต่คิดอย่างเจียมตนว่า สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงแสงจากเทียนเล่มน้อยที่คอยส่องทางอันมืดมนให้กับเด็กด้อยโอกาสสักคนได้เดินถึงฝั่งฝัน เป็นความภูมิใจของครูจิตอาสาที่ไร้วุฒิครู แต่มีความเป็นครูผู้ให้อย่างเต็มเปี่ยมทั้งตัวและหัวใจ