Art Today : “ครูสมหญิง” ลูกไม้ใต้ต้นผู้สืบทอดเพลงพื้นบ้าน

“ลูกไม้ใต้ต้น” คือสิ่งที่คนภายนอกมองมา แต่สำหรับ “สมหญิง ศรีประจันต์” ลูกสาวของศิลปินแห่งชาติ “ขวัญจิต ศรีประจันต์” กลับกลายเป็นความกดดันที่ต้องเป็นผู้สืบทอดเพลงพื้นบ้านที่กำลังจะเลือนหาย เพื่อดำเนินรอยตามผู้เป็นแม่บังเกิดเกล้า ซึ่งเป็นแม่เพลงลำตัดชื่อดังเมืองสุพรรณ


แม้จะได้เปรียบเพราะเป็นลูกสาวของแม่เพลงพื้นบ้าน แต่สมหญิงหรือครูหญิงของเด็ก ๆ ก็ถูกฝึกฝนในแบบเดียวกับคนอื่น ๆ จะมากกว่าคนอื่นบ้างก็ตรงที่ได้ใกล้ชิดตามแม่ไปแสดงในที่ต่าง ๆ แต่ก็ต้องใช้วิธีครูพักลักจำ เพราะผู้เป็นแม่ไม่เคยมาจ้ำจี้จ้ำไชให้ตนเองต้องเป็นแม่เพลงพื้นบ้าน ด้วยรู้ดีว่าเส้นทางการศิลปินไม่ได้สบายอย่างที่หลายคนคิด

อดีตที่งานการแสดงเพลงพื้นบ้านเคยเฟื่องฟู ครูหญิงเล่าว่าแทบไม่เคยได้เจอหน้าแม่ขวัญจิต เพราะต้องออกจากบ้านไปแสดงทุกคืนกว่าจะกลับมาก็รุ่งเช้า บางครั้งแม่ก็หายไปเดินสายแสดงในต่างจังหวัดยาวนานหลายวัน ถึงจะเห็นแม่มีชีวิตแบบนี้ แต่ครูหญิงก็ยินดีที่จะเดินสู่เส้นทางการเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านตามรอยแม่ แม้ความนิยมชมการแสดงเพลงพื้นบ้านในปัจจุบัน จะลดน้อยถอยลงไปตาม


การแสดงเพลงพื้นบ้านของครูหญิงในทุกวันนี้ ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ เมื่อก่อนเจ้าภาพจะจ้างไปเล่นตามงานวัด งานบวช งานแต่งงานหรือแม้แต่งานศพ แต่ปัจจุบันเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การแสดงเพลงพื้นบ้านกว่า 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ก็ถูกตัดทอนให้เหลือเพียง 15 นาที หรือ 30 นาที เพื่อให้เข้ากับกิจกรรมของผู้ว่าจ้าง เช่น การเปิดประชุมสัมนาของหน่วยงาน หรือแม้แต่การเปิดห้างร้าน บริษัทต่าง ๆ

ครูหญิงยังเล่าถึงการแสดงเพลงพื้นล้านเต็มรูปแบบในปัจจุบันว่า แม้จะยังมีผู้ว่าจ้างอยู่บ้าง แต่คนที่จะดูเต็มเวลาการแสดงนั้นลดน้อยถอยลงเต็มที คนแก่ที่ยังนิยมชมชอบการแสดงประเภทนี้ก็น้อยลงทุกวัน มีบางครั้งที่หน้าเวทีมีคนดูเหลือเพียงคนเดียวก็ยังต้องเล่นต่อ เล่นด้วยความสนุกสนาน เล่นด้วยจิตวิญญาณของศิลปิน ที่สำคัญเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านคือการเล่นกับคนดู

นอกจากงานแสดงเพลงพื้นบ้านที่ครูหญิงรับไม้ต่อมาจากแม่ขวัญจิตแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการสืบสานศูนย์การเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน บ้านแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ (ศิลปินแห่งชาติ) ที่ใช้พื้นที่ภายในบ้านพักจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชน เกี่ยวกับภูมิปัญญาทางด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน ด้วยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่แห่งนี้จึงมีโอกาสได้บ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักและรักในเพลงพื้นบ้าน ครูหญิงผู้ทำหน้าที่หลักในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพลงพื้นบ้านเล่าว่า เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ บางคนหน่วยก้านดีมีความสามารถก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ บางคนก็นำความสามารถที่ได้จากที่นี่ ไปต่อยอดกิจกรรมของโรงเรียน บางคนนำไปใช้เป็นไปเบิกทางในการสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันดังก็มี


การสอนของครูหญิงจึงเป็นการสอนให้รู้ซึ้งถึงเนื้อแท้ของเพลงพื้นบ้าน สอนให้รู้จักรากเหง้าทางวัฒนธรรมของปู่ย่าตายาย รวมทั้งสอนเรื่องของการปฏิบัติตน ทัศนคติ พื้นฐานการร้องและรำ เมื่อทำได้และทำดีเด็กก็มีความภาคภูมิใจในตนเอง พร้อมที่จะอนุรักษ์และสืบสานงานเพลงพื้นบ้านต่อไป

อาชีพศิลปินพื้นบ้านในวันนี้อาจไม่ได้ดีเหมือนเก่า แต่ครูหญิงก็ยังคิดในแง่ดีว่า มันอาจจะกลับมาดีเหมือนก่อน เพลงพื้นบ้านอาจหมดไปจากบริบททางสังคม แต่เพลงพื้นบ้านจะกลับเข้าไปอยู่ในบริบททางการศึกษาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบทอด นั่นคือภารกิจสองประการที่ครูหญิงต้องสืบต่อจากคุณแม่ขวัญจิต ความคาดหวังสร้างแรงผลักดันให้หมั่นฝึกฝนจนเป็นที่ยอมรับ “สมหญิง ศรีประจันต์” ในวันนี้กลายเป็นศิลปินพื้นบ้านเต็มตัว เป็นครูที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นผู้สืบสานและสืบต่อเพลงพื้นบ้านของไทย และเป็นลูกไม้ใต้ต้นที่ “แม่ขวัญจิต” ภูมิใจ

เข้าชม 576 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม