“ครูหมู” จารุวรรณ สุขสาคร คือ ทายาทรุ่นที่ 4 ของคณะละครชาตรี “จงกล โปร่งน้ำใจ” โดยบรรพบุรุษของครูหมู ฝั่งหนึ่งเป็นครูละครชาตรีจากท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา และอีกฝั่งหนึ่งเป็นโนราห์ชาตรีจากพัทลุง อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่กรุงเทพฯ ราวช่วงรัชกาลที่ 6 ณ ตรอกละคร ย่านนางเลิ้งหรือชื่อเดิมของถิ่นนี้คือสนามควาย ซึ่งย่านนี้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมบันเทิงที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะเป็นถิ่นอยู่อาศัยของมหรสพแขนงต่าง ๆ ทั้งคณะละครชาตรี โขน ลิเก
ละครชาตรีที่เรารู้จักทุกวันนี้ มีรากฐานมาจากโนราห์ทางภาคใต้ เมื่อขยับขยายย้ายถิ่นมาอยู่บางกอกก็ต้องปรับตัวให้ถูกจริตกับคนกรุง ด้วยการนำโนราห์มาผสมผสานกับละครนอก แต่แรกนั้นละครชาตรีเมื่อปรับเปลี่ยนแล้วก็เล่นกันเพียง 3 คน เป็นชายล้วนเรียกกันว่าละครเร่ ไม่มีบท ด้นสด เครื่องทรงน้อย ต่อมาเมื่อรับเอาละครนอกเข้ามาผสมผสาน ทั้งเรื่องราวและเครื่องทรงก็หรูหราขึ้น
คณะละครชาตรี “จงกล โปร่งน้ำใจ” ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งในปี 2509 ซึ่งคุณแม่จงกล คือ คุณป้าของครูหมู ทายาทคณะละครชาตรีในปัจจุบันนั่นเอง เมื่อแรกเริ่มก็รวบรวมเอาลูกหลาน ลูกศิษย์ลูกหามาตั้งเป็นคณะฯ รับงานแสดงละครชาตรีแบบดั้งเดิม ที่แสดงตามแบบขนบโบราณ มีการโหมโรง รำซัดไหว้ครู รวมถึงการรำถวายมือที่ปัจจุบันได้ถูกตัดทอนมาเป็นการรำแก้บนที่เราคุ้นเคย ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน การจ้างงานก็ลดน้อยลง คณะละครชาตรีหลายคณะฯต้องปิดตัวไป เหลือเพียงคณะละครชาตรี “จงกล โปร่งน้ำใจ” ที่ยังคงอยู่ได้จากรายได้หลักที่เกิดจากการเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะละครรำแก้บนที่ศาลพระพรหมเอราวัณ
แม้จะมีรายได้หลักต่อลมหายใจให้ชาวคณะฯที่ยังเหลืออยู่ แต่ครูหมูก็ไม่หยุดแค่นั้นเพราะมองว่าถ้าปล่อยไปเช่นนี้ละครชาตรีก็จะเหลือภาพจำเพียงการรำแก้บน ครูหมูและพี่น้องจึงร่วมใจกันฟื้นฟูงานละครชาตรีตามขนบดั้งเดิม ด้วยการรวบรวมลูกศิษย์วัยเก๋าของแม่จงกล มาร่วมเล่นละครชาตรีด้วยกันอีกครั้ง โดยได้เวทีสังคีตศาลา ของกรมศิลปากรเป็นการเปิดโลกละครชาตรีให้กลับมาเป็นที่รู้จักของคนไทยอีกครั้ง ที่สำคัญละครชาตรียังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ จากการผลักดันของครูหมูอีกด้วย
ไม่ได้หยุดเพียงแค่งานอนุรักษ์ฟื้นฟู แต่ครูหมูยังขอเป็นผู้ถ่ายทอดละครชาตรีให้กับเด็กรุ่นใหม่ เริ่มจากการได้ทุนฟื้นฟูละครชาตรีจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หลังเปิดสอนต่อเนื่องมาหลายปีมีเด็กไทยหันมาสนใจเรียนรู้ละครชาตรีกันมากมาย หลายรายได้ใช้ความสามารถที่เรียนรู้จากครูหมูไปสานต่อเติมเต็มอนาคตทางการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เพียงเท่านี้ก็เป็นสิ่งที่ครูหมูภูมิใจและสุขใจแล้ว