เลิกแค้นเมียนมา — ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา

เปิดใจ-เลิกคิดแค้นเรื่องประวัติศาสตร์ ธุรกิจในเมียนมาแค่เอื้อม


ประเทศเมียนมาถือว่าเป็นตลาดใหม่ ที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ หรือด้านการค้า จึงทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่ผู้ประกอบการจะเติบโตในประเทศเมียนมาได้หรือไม่  รายการ Startup to Growth วันที่ 5 ก.พ.2560  ได้มี ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความกระจ่างในหลากหลายประเด็น

คำถามแรกที่ผู้คนสงสัยและต้องการคำตอบคือ ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสสามารถเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเมียนมาได้หรือไม่ ดร. ปิติ อธิบายว่า  การเซ็นสัญญา MOU ถือว่าเป็นความพยายามที่ดีของภาครัฐ เพราะข้อตกลงระหว่างรัฐกับรัฐจะทำให้ตัวคนที่อำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้การค้าการลงทุนของภาคเอกชนเดินหน้าไปได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือ การเซ็นสัญญา MOU กันนั้นต้องตรงตามความต้องการของภาคเอกชนหรือไม่ หากไม่ตรงตามความต้องกการ จะทำให้ MOU ไม่ถูกใช้อย่างที่ควรจะเป็น


เมื่อถามถึงสาเหตุที่นักลงทุนชาวเวียดนามโดดเด่นและมีบทบาทการลงทุนในเมียนมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ดร. ปิติ  อธิบายต่อไปว่า  เมื่อปี 2010  ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง เริ่มปฏิรูปอย่างจริงจัง  และเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2013 สร้างความร่วมมือในระดับรัฐต่อรัฐ  ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับรัฐบาลเวียดนาม มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก  แลกเปลี่ยนข้อมูล  ให้สิทธิประโยชน์ในการค้า การลงทุน และเวียดนามก็ทำนโยบายของภาครัฐที่แน่นอนว่าระบบเศรษฐกิจของเขายังเป็นระบบคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นอาจจะสั่งหันซ้ายหันขวาได้ง่าย  ก็ระบุเจาะจงเลยว่า ต่อไปนี้เวียดนามอาจจะไม่ใช่ประเทศที่รับแต่การลงทุนอย่างเดียวแล้ว แต่เวียดนามน่าจะเป็นประเทศที่เริ่มต้นที่ออกไปลงทุนข้างนอกประเทศด้วย เป้าหมายสำคัญที่สุดของเวียดนามก็คือประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นเรื่องฐานข้อมูล เรื่องความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนเวียดนามที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมาตอนนี้แน่นมาก

“เมื่อปลายปีที่แล้วภาคเอกชนเวียดนาม มี Mega-project ยักษ์ใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา  ใครที่เข้าไปย่างกุ้งบริเวณโซนธุรกิจสมัยใหม่  ย่างกุ้งจะขยายใหญ่ออกมาทางทะเลสาบอินยา ซึ่งขณะนี้ริมทะเลสาบอินยามีห้างสรรพสินค้าใหญ่มาก เท่ากับสยามพารากอนของไทย ชื่อว่า เมียนมา มอลล์  และโครงการของเมียนมามอลล์ จะมีโรงแรมห้าดาว  โดยโครงการนี้ เป็นโครงการของนักลงทุนชาวเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในย่างกุ้ง”

เมื่อถามถึงศิลปวัฒธรรมของย่างกุ้งในเรื่องการแต่งกาย ดร. ปิติ เล่าว่า การอยู่เมียนมาเป็นการอยู่ที่อิสระเสรีภาพ เพราะได้นุ่งโสร่ง แต่ถ้าอยู่ประเทศไทยคงไม่สะดวกเท่าไหร่  การนุ่งโสร่งที่เมียนมาเป็นการแต่งตัวที่สุภาพ ถ้าหากนุ่งโสร่งไปคุยกับนักธุรกิจ ไปติดต่อราชการ ถือว่าเป็นการแต่งตัวที่น่านับถือมาก ทุกคนจะให้ความนับถือเป็นพิเศษ และต้องใส่คู่กับรองเท้าแตะ  ถ้ามาใส่ถุงเท้ารองเท้าหนังถือว่าอันนี้ไม่ใช่ของจริง


เมื่อถามถึงนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมียนมา ดร. ปิติ ระบุว่า เวียดนามเริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  ผ่านทางตัวภาครัฐที่นำเข้าไป  แต่จริง ๆ แล้วประเทศไทยก็เคยมีโอกาสมากถึงขนาดที่เอกชนไทยบางรายเคยจะได้รับค่าสัมปทานเพื่อทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมียนมา แต่ว่าด้วยการขาดเงินทุน และล่าช้าก็ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่เดินหน้าเท่าที่ควร และตอนนี้ทางเมียนมาก็เริ่มจะมีญี่ปุ่นเข้ามา  ขณะที่ไทยก็ไม่สามารถไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาระหว่างธุรกิจกับภาครัฐได้ ฉะนั้นความล่าช้าของเขตเศรษฐกิจพิเศษเลยกลายเป็นปัญหาที่ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ค่อยราบรื่นอย่างที่คิด

สำหรับความสำเร็จจากนโยบายของ ออง ซาน ซูจี ดร. ปิติ  อธิบายต่อไปอีกว่า  ปัญหาอย่างหนึ่งของเมียนมา คือ เกิดสุญญากาศทางด้านเศรษฐกิจ หลังจากเดือนเมษายน ปี 2016  เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี ทิน จ่อ ดำรงตำแหน่ง และ ออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล จริง ๆ แล้วทุกคนก็พอรู้ว่าคนที่ทำงานทั้งหมดก็คือ ออง ซาน ซูจี งานทุกอย่างต้องผ่าน ออง ซาน ซูจี เพื่อให้ ออง ซาน ซูจี เป็นคนพิจารณา ฉะนั้นมุมมองตรงนี้จะทำให้ทุกคนมองว่าเธอทำงานทางด้านการเมืองเป็น แต่บริหารเศรษฐกิจไม่เป็น ทำให้มันหยุดชะงักไป  

“ออง ซาน ซูจี เป็น Baby Boomer และเป็นคนที่ภูมิใจในประสบการณ์และความสำเร็จของตัวเอง เพราะถือว่าอองซานประสบความสำเร็จในหลาย ๆ เรื่อง เปรียบเสมือนวีรสตรี คนเมียนมาทั้งประเทศยกย่องให้เป็นวีรสตรี เพราะฉะนั้นคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องพวกนี้ บางครั้งการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ จะเป็นเรื่องยาก”

ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ดร. ปิติ มองว่า จากที่ภาคเอกชนเคยเป็นเจ้าใหญ่ ตอนนี้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีอำนาจไปต่อรองกับรัฐบาลสูง ทำให้หลาย ๆ อย่างที่บางครั้ง โดยเฉพาะการออกแบบถนน การออกแบบสาธารณูปโภค ไม่เป็นไปอย่างถูกต้องหรือเพียงพอรองรับโลจิสติกส์ขนาดใหญ่  เพราะเมื่อเอกชนที่เคยลงทุนไปแล้วไม่สามารถทำต่อได้ กลายเป็นรัฐบาลไทยต้องเข้าไปรับซื้อทั้งหมด ภาครัฐต้องไปเอาเงินภาษีส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศไปซื้อของที่มันใช้ไม่ได้มาดำเนินโครงการต่อ  ปัญหาที่เราไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่โปรเจ็กต์ใหม่ร่วมกันระหว่างรัฐบาลแบบ จี ทู จี ( G 2 G ) หรือว่าบริษัทที่มีลักษณะเฉพาะ  ขณะที่ นักธุรกิจของเวียดนามมีความก้าวหน้ากว่า เพราะเวียดนามให้ความสำคัญที่ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนการลงทุนให้ภาคเอกชนจึงทำให้โครงการเดินหน้าไปได้มาก

“แต่ไม่ใช่ไทยจะไม่มีสิ่งที่ดีในประเทศเมียนมา หากพูดถึงสินค้าในตลาดเมียนมา ไทยก็เป็นที่นิยมเพราะสินค้าของไทยถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล ส่วนการลงทุนในเมียนมา ผมว่าตอนนี้ทุกธุรกิจน่าสนใจทั้งหมด แต่อย่าดูเพียงการเข้าถึงตลาดตลาดเมียนมาอย่างเดียว ให้ดูด้วยว่า เมียนมาจะเป็นสะพานต่อไปสู่ตลาดที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือ อินเดีย เช่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปสำรวจข้อมูลงานวิจัยที่ย่างกุ้ง แต่หัวข้องานวิจัยไม่ได้พูดถึงเรื่องการค้าการวิจัยในเมียนมา กลับพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียในบริบทของอาเซียน แล้วเราก็เลือกที่จะสำรวจข้อมูลในเมียนมา ในมาเลเซีย ในเวียดนาม เพราะสามพื้นที่นี้เมื่อรวมกับไทยแล้วเราจะมีศักยภาพมากในการไปสู่ตลาดที่ใหญ่กว่า คืออินเดีย” ดร.ปิติ อธิบายให้เห็นภาพ และเล่าต่อไปอีกว่า
ในสมัยที่เมียนมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  ได้ผนวกให้เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งในอินเดีย ฉะนั้นอาคารตลาดหลักทรัพย์ของเมียนมาที่เคยเป็นที่ทำการของธนาคารกลางของอินเดีย สาขาประเทศเมียนมา ซึ่งมีนักธุรกิจจำนวนมากเป็นนักธุรกิจเมียนมา เชื้อสายภารตะ มีบทบาทดูแลเรื่องการค้า การลุงทุน ของประเทศเมียนมา เช่น ถ้าจะซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ก่อสร้าง ย่านนั้นจะเรียกว่า ลิตเติ้ล อินเดีย จริง ๆ แล้ว เมียนมา อินเดีย ไทย อยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน ทั้งในแง่ของ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคม วัฒนธรรม จึงต้องต่อยอดในเรื่องเศรษฐกิจ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

เมื่อถามถึง Startup ไทยจะเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา  ดร.ปิติ  เชื่อว่า ทุกธุรกิจมีโอกาส เช่น ร้านอาหารบริการของไทยต่าง ๆ ที่เข้าไปในเมียนมาเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เริ่มครองใจคนเมียนมาได้มาก เช่น อาหารที่คนเมียนมาถูกใจมาก ๆ คือ ไก่ย่างห้าดาว  และขยายตลาดไปได้เร็วมาก ฉะนั้นเราเห็นตลาดของเมียนมาจะค่อยโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อก็ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นเช่นกัน  และก็ได้รับการต้อนรับที่ดีเพราะเรามีวัฒนธรรม สังคม ที่มันใกล้เคียงกัน ทำให้อาหารการกินของเราถูกปากคนเมียนมามากกว่าอาหารจากโลกตะวันตก

สำหรับกลยุทธ์การเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา ดร. ปิติ ทิ้งท้ายว่า ทำธุรกิจในเมียนมา ต้องเปิดใจ เลิกดูถูกว่าเขาด้อยกว่าเรา เลิกดูถูกว่าเขาเป็นคู่แค้นในประวัติศาสตร์  เปิดใจก่อนเพราะถ้าหากไม่เปิดใจก็จะไม่สามารถทำอะไรร่วมกันได้ สอง คือเดินทางไปที่เมียนมา ไปเที่ยว ไปเดินตลาด ไปเดินดูเป็นอย่างไร เห็นลู่ทางเห็นโอกาสหรือไม่ ลองสัมผัสก่อนว่าจริง ๆ คนเมียนมาน่ารักมาก ไปทำความรู้จัก  ไปกิน ไปใช้ ไปเที่ยว  อยู่ตรงนั้นสักพักแล้วจะเห็นว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ก็มีโอกาสอย่างไร จึงค่อยกลับมาทบทวนตัวเอง  ส่วนลูกน้องต่างด้าวที่อยู่กันมานาน ๆแล้วเราไว้ใจ ก็ใช้คนเหล่านี้เป็นสะพาน  สอนให้รู้เรื่องธุรกิจของเรา ทำหน้าที่เป็นเซลล์ของเราในตลาดเมียนมา

เรื่อง : ชลลดา ละมูนกิจ
เรียบเรียง  :  อริสรา ประดิษฐสุวรณ
 

เข้าชม 13 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม