จะปฏิรูปศาสนา แยก *พุทธศาสนาเนื้องอก* ให้ได้ก่อน โดย ว.วชิรเมธี

จะปฏิรูปศาสนา แยก *พุทธศาสนาเนื้องอก* ให้ได้ก่อน โดย ว.วชิรเมธี

จากกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับศาสนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำหลักธรรมคำสอนหรือการกระทำต่างๆ ที่ผิดเพี้ยน นอกรีตนอกรอย ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูป ปรับเปลี่ยน แก้ไข รายการเวทีความคิด พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี)ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ



…พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี มองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพระพุทธศาสนามีอิทธิพลของสังคมไทย ถึงขนาดที่คนพูดว่า *เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ* แก่นพุทธศาสนาเป็นยังไง สิ่งที่ผิดเพี้ยนเป็นยังไง พุทธศาสนาเนื้องอก คือเนื้ออันตราย แก่นพุทธศาสนาเป็นอย่างไร? ถ้าจับประเด็นตรงนี้ได้ ก็จะรู้ว่าอะไรเป็นของปลอม พุทธศาสนาจริงๆ เขาเรียกว่าเป็น *พระสัจธรรม* ส่วนพุทธศาสนาเนื้องอก เขาเรียกว่า *สัจธรรมปฏิรูป* (สัจธรรมคือธรรมที่แท้ คือ Original Bhusdhism) สิ่งที่ทำเทียมของจริงแต่ไม่ใช่ของจริง ทำเหมือนของจริงแต่ไม่ใช่ของจริง

เครื่องมือสำคัญที่ทำให้แยกออก คือการศึกษา *พุทธ* โดยรูปคำ แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความรู้ พอไม่รู้ ก็ไม่ตื่น ก็คือยังงมงายต่อไป พอไม่ตื่นจะเบิกบานได้ยังไง ก็ติดอยู่ในข่ายของความคิด ข่ายของความเชื่อ ข่ายของลัทธิพิธีกรรมต่างๆ มากมาย จึงไม่เป็นอิสระจากความโกรธ ความโลภ ความหลง ว่ายวนอยู่ในเขาวงกตของความโลภ โกรธ หลง ฉะนั้นตัวกลางที่จะทำให้รู้จักพุทธแท้ พุทธเทียม คือการศึกษา การศึกษาจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ก่อนจะปฏิรูปอะไร ต้องจับให้ได้ก่อนว่า แก่นมันคืออะไร? ที่เพี้ยนออกมามันคืออะไร? จับตรงนี้ได้แล้วก็เหมือนได้ไม้บรรทักอันหนึ่งมาวาง แล้วจะเห็นว่าอะไรที่มันไม่ตรงตามนั้น จะแยกออกมาได้เลย ของจริงเป็นกองหนึ่ง ของปลอมเป็นกองหนึ่ง แต่ทุกวันนี้มีปัญหาว่า ทั้งคณะสงฆ์และชาวพุทธของเรา มีความอ่อนแอในเรื่องของความคิด พออ่อนแอเรื่องของความรู้ของพุทธศาสนาที่เรานับถืออย่างแท้จริง มันก็เปิดช่องให้สิ่งแปลกปลอมเล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย เหมือนร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็แทรกซึมได้ง่าย ทำอย่างไรถึงจะแข็งแรงขึ้นมา ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ อย่างน้อยที่สุด ต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร จับหลักแค่นี้ให้อยู่ พระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร
หลักง่ายๆ เลย พระองค์สอนให้ลดความโลภ ลดความโกรธ



คำว่าโกรธ… คือความอวดดื้อถือดี ความมีอัตตา หรือตัวกู ความยึดติด เชื่อมั่นในตัวฉันของฉัน ว่าฉันเก่ง ฉันเจ๋ง ฉันแน่ โกทะกิเลสตระกูลโกรธ เป็นกิเลสสายอีโก้ สายอัตตา
ต่อไปก็ความหลง… ความไม่มีเหตุมีผล อะไรที่สวนทางสามอย่างนี้ สัญนิฐานได้ว่า มันไม่น่าจะใช่ของจริง
พระอาจารย์ยืนยันว่าไม่ได้หมายถึงใครกลุ่มไหน พูดถึงหลักการล้วนๆ ว่ากันด้วยหลักความรู้ ใครจะเชื่อยังไง ก็เอามาเทียบกับหลักความรู้ที่พระพุทธองค์ท่านสอนเอาไว้ ไม่ตัดสินใคร แต่ให้ความจริงตัดสินเอง
คือหลักการมีอยู่ว่า ทางพุทธ สอนให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง (อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ) อยากได้… ก็คือเอาไม่จบไม่สิ้น ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ อยากกอบโกยไม่จบไม่สิ้น คือโลภนั่นเอง สังคมที่ถูกปลุกปั่นให้วิ่งตามความโลภ คือสังคมที่ติดอยู่ในโลภาภิวัฒน์ ความโลภมันครอบโลก มนุษยมีจุดอ่อน คือมีความอยากพื้นฐาน พอถูกกระตุ้นให้อยาก ยั่วให้อยาก หลอกให้ซื้อกันไม่จบไม่สิ้น ต่อไปก็ อยากใหญ่… หมายความว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการแสดงออกของอีโก้ อัตตา และอหังกา ไอ้ตัวอยากใหญ่มันอยากให้โลกทั้งโลกทะเลาะกัน เพราะคิดว่าฉันเก่ง ฉันเจ๋ง ฉันแน่ ก็ไปกดคนอื่น เอาอัตตามาปะทะกัน กดกันไปมา สุดท้ายก็ทะเลาะกันได้ทั้งโลก ซึ่งพระพุทธองค์สอนให้เราถ่อมตนเพราะอะไร เพราะตัวตนของเรานั้นมันไม่มี ถ้าเข้าใจหลักนี้ จะรู้ว่าตัวกูของกูมันไม่มีหรอก ฉะนั้นที่หลงยึดติถือมั่น มันเป็นการหลงผิดตามอวิชาที่เราสร้างขึ้นมาเท่านั้น พุทธจริงๆ สอนให้ถ่อมตน เพราะไม่มีตนให้ยึดติดถือมั่นเลย  ส่วนใจแคบ…ก็คือ เราจะมีความคิดมีความเชื่อว่าลัทธินิกายที่เรานับถือนั้นดีที่สุด ดังนั้นเราจะไม่ชอบใจที่มีลัทธินิกายอื่นขึ้นมาเปรียบเทียบ แล้วก็อยากให้คนอื่น เห็นดีเห็นงามตามไปทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกมันเต็มไปด้วยความหลากหลาย อยากจะให้ลัทธินิกายของตนถูกที่สุด อะไรที่ยึดติถือมั่นดีที่สุด ไปกวาดไปต้อนคนอื่นมาเห็นด้วย พอเขาไม่เห็นด้วยก็เหยียดเขาลง นี่ก็เป็นที่มาของสงครามศาสนานั่นเอง
อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ อันนี้เป็นสิ่งตรงข้ามกับพระพุทธศาสนา ความรู้จักพอ ความถ่อมตน ปัญญา ความมีเหตุมีผล เป็นลักษณะของพุทธแท้ นี่คือไม้บรรทัด ถ้าเข้าใจหลักนี้ เอาไม้บรรทัดไปวาง เราก็จะเห็นเองว่า อันไหนเป็นพุทธแท้ อันไหนเป็นพุทธเทียม

พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี แนะว่า…ต้องส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาการส่งเสริมพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาสเป็นปัญหาใหญ่มาก การศึกษาของคณะสงฆ์ก็ไม่เข้มแข็งไม่เข้มข้น ไม่เข้มแข็ง… หมายความว่า ไม่ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพระสงฆ์ให้มีคุณภาพจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอยู่เมืองไทย หรือส่งไปเรียนพระธรรมฑูตที่ต่างประเทศ ก็ทำหน้าที่ได้กระปกกระเปลี้ยเหลือเกิน ทำได้ในเชิงสัญลักษณ์ วัฒนธรรม เป็นส่วนใหญ่ การทุ่มเทสอนอย่างจริงจัง หาได้ยาก มีศาสนทายาทที่ขาดความรู้ ไม่เข้มข้น… ก็คือการฝึกหัดขัดเกลาทำกันน้อย เราเน้นการศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงวิชาการ แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยทำกัน จึงเห็นว่า มีพระสายวิปัสสนาน้อยมากในสังคมไทย แก่นพระพุทธศาสนา แท้จริงแล้วยึดโยงในวิปัสสนากรรมฐาน การศึกษาพุทธศาสนาเป็นการศึกษาในเชิงปรัชญา คือเอาความสนุกสนานบันเทิงทางสติปัญญาเป็นสำคัญ แต่ในเชิงปฏิบัติไม่ค่อยสนใจกัน ดังนั้น ทั้งที่เราอ้างว่าไทยเป็นเมืองพุทธ แต่คนส่วนใหญ่เองกลับทำตรงกันข้ามกับศีล 5

พระอาจารย์ยกตัวอย่างความรู้พื้นฐานที่สุด ที่ผู้คนยังแยกไม่ออก คือบุญกับทาน… บางคนบ่นว่า ได้ทำแต่ทานไม่ค่อยได้ทำบุญเพราะไม่มีเงิน สะท้อนว่า ความเข้าใจพื้นฐานไม่มีเลย จริงๆ ทานเป็นส่วนหนึ่งของบุญ การทำบุญไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ยังจับหลักการทำบุญกับทานไม่ได้ จึงแยกออกเป็นคนละส่วน ยังเข้าใจไม่ถูกว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นทาน พอทำบุญก็บอกว่าไม่มีเงิน เอาบุญไปผูกกับเงินอีก ในความเป็นจริงมันแทบไม่เกี่ยวกันด้วยซ้ำ พอไม่เข้าใจว่าบุญมันไม่เกี่ยวกับเงิน หลังๆ มีคนอธิบายโยงว่ามันเกี่ยวกัน ก็กลายเป็นว่าต้องทำมาก ถ้าทำมากก็หมายความว่าคนที่มีโอกาสทำบุญก็คือคนรวย ถ้าเป็นอย่างนี้ คนยากคนจนก็เข้าไม่ถึงบุญ สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องบุญเรื่องทานที่เราทำอยู่ทุกวันก็ยังไม่เข้าใจ
ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าจะเอาความรู้ที่ไหน มาเข้าใจในระดับที่มันผิดเพี้ยนใหญ่กว่านั้น เข้าใจแก่นพระพุทธศาสนามันถูกบิดเบือน ซึ่งไปลึกมากกว่านั้น ในวิกฤตการณ์ต่างๆ จึงได้เห็นชาวพุทธทำกันได้เต็มที่ ก็แค่เอาความคิดความเห็นมาเถียงกัน แต่น้อยมากที่คนจะเอาความรู้ขึ้นมาถกกันอย่างมีเหตุมีผล อย่างมากก็ด่ากันไปมา เราไปไม่ถึงพระพุทธเจ้าเลย แสดงให้เห็นว่า เราเข้าไม่ถึงสังคมความรู้ อยู่กันแค่ความเห็นเท่านั้นเอง ตรงนี้เป็นความอ่อนแอ …เราขาดคนที่จะเอาจริงเอาจังที่จะเป็นเนื้อเป็นหนังของประเทศ แทบจะทุกวงการเลยก็ว่าได้ ในวงการสงฆ์ก็ขาดคนที่จะทุ่มเทเพื่อเรื่องศาสนาขาดคนที่เข้าใจเรื่องการศึกษาจริงๆ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ต้องการการรู้จริง การรู้จริงต้องปราศจากการคิดที่เป็นการเมืองด้วย คิดอย่างการเมือง จะคิดแต่ผลประโยชน์ผลกำไร มันไม่สามารถจะวางรากวางฐานเป็นเรื่องเป็นราวได้


เรื่องแบบนี้ต้องการคนที่มองเห็นปัญหาแล้วมานั่งคุยกัน ที่ว่าวิกฤตนั้นเริ่มจากตรงไหน แล้วมันอ่อนแอยังไง แล้วจะไปยังไหนกันต่อ ทุกวันนี้เราไม่ขาดคนที่มีความเห็น แต่เราขาดคนที่มีความรู้ พอคนรู้จริงน้อย มันก็มีช่อง ให้คนรู้บ้างไม่รู้บ้างมาฉวยโอกาส สำคัญสุดเราจะต้องช่วยกันส่งเสริม ให้เกิดการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาเป็นจริงเป็นจัง พอมีความรู้ พออะไรผิดเพี้ยน จะทักก่อน จะติงก่อน จะเตือนก่อน แต่พอไม่มีความรู้ เห็นอะไรผิดเพี้ยน ก็ไม่มีใครทัก ก็ปล่อยเลยเถิดกันไปใหญ่

…มีอีกสองสามประการที่พระอาจารย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามันเริ่มเพี้ยน
ประเด็นที่หนึ่ง… เรื่องที่เป็นปรากฏการณ์ คือการปฏิรูป อีกประเด็นต่อมา… ที่เป็นเรื่องใหญ่คือ คณะสงฆ์และชาวบ้าน มีแนวโน้ม ในเรื่องการประสบความสำเร็จในชีวิตพระ ก็คือการมียศศักดิ์อัครฐาน ทำให้พระสงฆ์วิ่งไปสู่ ยศ ทรัพย์ อำนาจ พระธรรมดาที่ไม่มีความรู้ก็พยายามจะไต่เต้าขึ้นไปข้างบน ผลก็คือเกิดการวิ่งเต้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าสถาบันตัวอย่างทางจริยธรรม ยังไม่ค่อยมีจริยธรรม จะเอาพลังจริยธรรมที่ไหนไปส่งเสริมผู้อื่นมีจริยธรรมขึ้นมา นี่เป็นโลกทัศน์แบบชาวบ้าน ที่เข้ามาอยู่ในสถาบันสงฆ์ คือคิดว่าถ้ามียศทรัพย์อำนาจ มียศชั้นขุนนางพระ ถึงจะประสบความสำเร็จในชีวิตพระ เป็นโลกทัศน์ที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง แต่ตอนนี้มันครอบงำคณะสงฆ์โดยรวมอยู่ แท้จริงชีวิตพระสงฆ์เป็นชีวิตที่ง่ายมาก เป็นชีวิตของการไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร เป็นชีวิตที่ง่ายที่สุด ต่ำต้อยที่สุด และไม่ควรมียศถาอะไรในสังคม เป็นพระธรรมดานั่นล่ะวิเศษสุด นั่นคือแก่นที่ควรเป็น แต่ค่านิยมนำพาเราว่าชีวิตที่มียศถาบรรดาศักดิ์คือชีวิตที่ประสบความสำเร็จ นี่คือโลกทัศน์แบบฆราวาสที่เข้ามาในวงการสงฆ์ และมันเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครกล้าแตะประเด็นไหนทั้งสิ้น เพราะทุกคนจะ Play save ทุกคนอยู่ใน Comfort zone กลัวกระทบในความก้าวหน้าของตัวเอง ในลาภยศศักดิ์อัครฐาน ทำให้พระสงฆ์หมดพลังทางคุณธรรม หมดพลังทางจริยธรรม เพราะตนเองกับฆราวาสก็จาริกอยู่ในภูมิเดียวกัน คือภูมิโลภ โกรธ หลง ฉะนั้นเวลาใครทำผิดมาก็ไม่มีใครกล้าเตือนใคร เพราะกลัวจะกระทบกับตนเอง

"วิถีของพระควรจะเป็นวิถีที่ออกนอกกรอบการแข่งขันให้มากที่สุด เข้าสู่ความเป็นพระธรรมดาให้มากที่สุด ถึงจะสง่างามในความเป็นพระ การเป็นพระอย่างเดียวประเสริฐที่สุด ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรมาเสริม มาเติม มาพอก มาพูน ยศถาอัครฐานเป็นส่วนเกินในชีวิตพระ ถ้าเราจับประเด็นตรงนี้ไม่ได้ มันยากมากที่จะปฏิรูปอะไร เพราะทุกคนก็กลัวว่าจะกระทบตัวเอง"

…อีกประเด็น คือวัดต่างๆ ไม่น้อย หลงลืมพระพุทธศาสนาที่เน้นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ก็ไปอัญเชิญสารพัดเทพมาไว้ในวัดอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งบางวัดยังเอาโยนี ศิวลึงค์ ไปไว้ในโบสถ์ในวิหาร ซึ่งน่าตกใจ เพราะคนละเรื่องกับพระพุทธศาสนาและไม่ได้มีความหมายทางจริยธรรมหรือปัญญา เป็นความหมายในเชิง การเลือกศรัทธา แล้วนำมาสักการะเท่านั้น โดยสูญเสียจุดยืนของตัวเองไป สวนทางกับสิ่งที่พระพุทธองค์สอนไว้ พระพุทธศาสนานั้นพระองค์นั้นทรงดึงคน จากเทพมาสู่ธรรม คนสมัยก่อนทุกสิ่งทุกอย่างฝากไว้กับเทพหมด พอพระองค์ตรัสรู้ พระองค์จะบอกว่าอย่าไปพึ่งเทพ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มนุษย์เป็นผู้กุมชะตาของมนุษย์เอง ตัวเองกำหนดชะตาตัวเอง ค่าของคนอยู่ที่การทำตัวของเขา จะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวทำหรือเรียกว่า หลักกรรม อยากได้อะไรอยากเป็นอะไรทำเอา อย่าไปอ้อนวอน เดี๋ยวนี้วัดเยอะแยะมากมายชวนกันอ้อนวอนขอนั่นขอนี่เต็มไปหมด

พระอาจารย์บอกว่า ต้องกล้าที่จะเอาความจริงมาพูดกัน กล้าที่จะพูดเพื่อคนส่วนใหญ่ กล้าที่จะพูดเพื่อแหวกอวิชชาทั้งหลายออกไป แล้วทำให้เห็นว่า ความจริงของพระพุทธศาสนาที่ถูกที่ควรต้องเป็นแบบไหน แต่ความกล้าต้องมาพร้อมกับความรู้ เพราะถ้าไม่มาพร้อมกับความรู้ ก็จะทะเลาะกัน แต่ถ้าเอาความรู้มาวางเป็นบรรทัดฐาน ไปหาพระไตยปิฎก พระไตยปิฎกว่าอย่างไร พระไตยปิฎกเป็นบรรทัดฐาน อันไหนที่ไม่สอดคล้องก็ถอดออก

แต่ประเด็นคือ…เมืองไทยของเรา ทั้งพระทั้งเณรไม่อ่านพระไตยปิฎก เรื่องก็วนกลับมาที่การศึกษา เพราะฉะนั้นเราต้องส่งเสริม ให้กลับมาหาแก่นพระพุทธศาสนา หรือบรรทัดฐานของพุทธศาสนา คือการส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าพระไตยปิฎกให้มากที่สุด แล้วก็นำแก่นนำออกมาเผยแผ่และแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ขณะเดียวกันต้องทำสิ่งนี้ด้วยความเมตตา ไม่ใช่ด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ต้องทำด้วยความรู้ความเมตตา จึงนำมาเพื่อการถกแถลงวิวาทะอย่างมีเหตุมีผลและไม่เกลียดชังกัน ไม่ลุกขึ้นมาทำร้ายกัน อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องตั้งไว้ในจิตในใจ ว่าจะทำการชำระสะสางวงการพระศาสนา
ด้วยความรู้ ก่อนจะให้ความเห็นต้องเอาความรู้มาพูดกัน ก่อนทำการวิจารย์ต้องทำการวิจัย ไม่อย่างนั้นมันจะตีกันเพราะความเห็น จับหลักตรงนี้ให้ได้ก่อน ก่อนให้ความเห็นต้องหาความรู้ มีความรู้ในสิ่งที่กำลังจะพูดถ้าไม่มีความรู้ โพล่งออกไป เดี๋ยวก็ทะเลาะกัน ความรู้สำคัญมากต้องมาคู่กับความรักคือความเมตตา

พระอาจารย์ทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า…ไม่ว่าจะดีจะชั่วอย่างไรก็ตาม เราต้องมองสังคมไทยอย่างมีความหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เลวร้ายเกินกว่าที่เราจะแก้ไข ขออย่างเดียวขอให้เรานั้นตื่นขึ้นมาก่อน เวลานี้สังคมไทยต้องการ หนึ่งความรู้ สองความรู้สึก
หนึ่ง ความรู้… ทุกๆ เรื่องที่เราจะเข้าไปวิวาทะนั้น เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นด้วย สอง ความรู้สึก… เราต้องตื่นขึ้นมารู้ว่า มันเสื่อมไปถึงไหนแล้ว ถ้าเราไม่รู้สึกไม่สะดุ้งสะเทือนว่า โจรกำลังจะมายกเค้าบ้านเรา ยกสมบัติจนหมดแล้ว ยังไม่รู้สึกรู้สม อย่างนี้ตายเลย คนที่มีความรู้อย่างเดียวไม่พอที่จะแก้ไขอะไร เพราะมีคนที่มีความรู้มากมาย แต่ไม่มีความรู้สึก คือรู้แต่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรกลัวจะเข้าตัว
ถ้าเรามีความรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร และความรู้สึกว่ามันเพี้ยนไปแค่ไหนแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ ความสงสาร เราจะไม่ยอมให้เกิดบ่อนทำลายสังคมไทย ให้เสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ตัวความสงสาร ตัวความเมตตาจะทำให้เรายอมเสียสละตัวเองลุกขึ้นมาพูดเพื่อความจริง ลุกขึ้นมาสู้เพื่อความจริง ลุกขึ้นมาทำเพื่อความจริง และจะไม่นำไปสู่ผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ในเชิงลาภสักการะ สำหรับตัวเอง แต่ปลายทางความเมตตาจะนำไปสู่ประโยชน์สุขของคนโดยรวม


ฉะนั้นใครจะทำการเพื่อสังคมสวามคำสำคัญมาก หนึ่ง–ความรู้ จะทำให้เราจับประเด็นได้แม่นยำ ว่าอะไรเป็นอะไร สอง–ความรู้สึก จะทำให้เราตื่นตัว ว่าเราจะไม่ยอมให้มันเสื่อมอีกต่อไป สาม–คือความเมตตา เราจะลุกขึ้นมาแก้ไขโดยไม่หวังผลประโยชน์เพื่อตนเอง แต่เราจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ล้วนๆ

 

นฤปาณ ภัทรสิทธิสกุล เรียบเรียง

เข้าชม 30 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม