นี่คือภาพ “วันแห่งความสุข” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้กล้องถ่ายรูป หยุดช่วงเวลาแห่งความสำราญพระราชหฤทัย บันทึกภาพพระอิริยาบถสบายๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ ไม่เพียงฉายชัดถึงความรู้สึกของทั้งสองพระองค์ ณ ขณะนั้น แต่ยังเห็นชัดเจนถึงพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการถ่ายภาพตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยมาจากการทอดพระเนตรเห็นพระราชมารดาโปรดการถ่ายภาพ และเมื่อพระชนมายุได้ 8 พรรษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก็พระราชทานกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Coronet Midget ให้พระองค์ศึกษาด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงล้างฟิล์มอัดขยายทั้งภาพขาวดำและภาพสีด้วยพระองค์เอง และทรงจัดทำห้องมืดบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. สำหรับล้างฟิล์มสีและขยายสี
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ภาพวิจิตรศิลป์ ซึ่งทรงโปรดฉายภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเป็นอย่างมาก รวมถึงภาพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และภาพพระราชโอรส พระราชธิดา อาทิ ภาพ “เย็นวันนี้ที่อยุธยา” และภาพ “ในสวนดอกไม้” ซึ่งเป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ในหลวงทรงตั้ง
ชื่อว่าภาพ “เทพธิดาขมิ้นป่า” ภาพต่างๆ เหล่านี้ชี้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงรักครอบครัวอย่างยิ่ง
ส่วนภาพ “ในอ้อมพระกร” ทรงใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่ล้ำเลิศ โดยทรงใช้เลนส์ Fish Eye ถ่ายภาพพระองค์เองและผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในระดับมุมต่ำ ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ ภาพถ่ายเพื่อการพัฒนา ทุกๆ ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ จะทรงถ่ายภาพเพื่อใช้ประกอบพระราชกรณียกิจเสมอ เช่นภาพนี้เป็นภาพถ่ายทางอากาศที่ทรงใช้เป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน จึงเป็นภาพถ่ายที่ทรงคุณค่า ทั้งทางศิลปะและวิชาการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
*************************************
พระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมก็เป็นอีกหนึ่งพระปรีชาสามารถซึ่งเป็นที่ประจักษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มวาดภาพขณะที่มีพระชนมายุประมาณ 18 พรรษา โดยช่วงแรกๆ ทรงฝึกฝน เรียนรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงซื้อตำราศิลปะมาศึกษา และโปรดการมีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2502 -2510 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างสรรค์จิตรกรรมฝีพระหัตถ์นับร้อยชิ้น โดยทรงวาดภาพสีน้ำมันหลายประเภท อาทิ ภาพ Portrait หรือภาพเหมือนบุคคล ที่ทรงชอบวาดภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และภาพครอบครัว นอกจากนี้ยังทรงวาดภาพแนว Symbolism / Expressionism / และ Abstract
************************************
“เรือซูเปอร์มด” จำลองนี้ คือหลักฐานถึงอีกหนึ่งพระอัจฉริยภาพด้านหัตถศิลป์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงโปรดกีฬาเรือใบอย่างยิ่ง จึงทรงใช้ความรู้ด้านงานช่างที่ทรงสนพระราชหฤทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน รวมทั้งทรงทดสอบสมรรถนะของเรือด้วยพระองค์เอง ทรงต่อเรือใบลำแรก ชื่อ “เรือราชปะแตน” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2507 และ “เรือซูเปอร์มด” ทรงต่อเมื่อปี พ.ศ.2509 และทรงต่อเรือ “ไมโครมด” ในเวลาต่อมา
****************************
และนี่คือภาพไปรษณียบัตรที่มีลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงพระอักษรถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า “เล็กคิดถึงมาก” ไม่เพียงแสดงออกถึงความรัก ความผูกพันในสายพระโลหิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อสัญลักษณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเขียนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
พระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เป็นอย่างดี เพราะทรงพระราชนิพนธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เมื่อปี พ.ศ. 2539 และเป็นพระราชนิพนธ์ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเรื่องราวสนุกสนาน อ่านง่าย และมีคติสอนใจ เช่นเดียวกับพระราชนิพนธ์ “เรื่องทองแดง” ที่ถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ และความกตัญญูของ “คุณทองแดง” สุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์ทางอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์แปลอีกหลายเรื่อง อาทิ “ติโต” และ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”
ความเป็นเลิศในศิลปะหลากหลายแขนงซึ่งเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” ซึ่งหมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือ ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน :-ไนน์เอ็นเตอร์เทน