“จิ๊บ-วรรณศิริ” กระแสปังกับรายการฮาร์ดทอล์ค “คุยตามข่าว”พร้อมเผยมุมรีแลกซ์

เป็นกระแสตั้งแต่ต้นปีทีเดียวสำหรับ ผู้ประกาศข่าวของสำนักข่าวไทย ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 “จิ๊บ-วรรณศิริ ศิริวรรณ” กับการมานั่งแท่นพิธีกรในรายการฮาร์ดทอล์ค “คุยตามข่าว” ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 12.30 น. “ในรายการ คุยตามข่าว เราจะนำข่าวที่เป็นกระแส ที่น่าสนใจ ที่ยังมีคำถามในสังคม รวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ค้นหาคำตอบทุกด้าน เพื่อหาคำตอบที่อาจจะมีอยู่หลายทางในประเด็นของสังคมนั้นมานำเสนอ ด้วยความที่เราเป็นคนข่าว อยู่กับข่าวมาตลอด และเป็นสิ่งที่เราถนัด ซึ่งแต่ก่อนเราจัดรายการเล่าข่าวเป็นหลัก ที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ในช่วงหลายปีมานี้ช่อง 9 ยังไม่มีรายการฮาร์ดทอล์คแบบที่เป็นการตั้งคำถามกับข่าวและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแทนคนดูแบบตรง ๆ พอมาปีนี้ทางผู้บริหารช่อง 9 อยากให้มีรายการแนวนี้ และก็เลือกเรามาทำ จริง ๆ รูปแบบและประเด็นก็ยังคงอยู่ในมุมของความเป็นข่าวอยู่ แต่จะลึกขึ้น เจาะประเด็นให้เห็นมิติต่าง ๆ มากขึ้น ในข่าวทั่ว ๆ ไป เรารู้แล้วว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่มันยังไม่ลึกพอ เพราะในข่าวหนึ่งข่าว พอแตกประเด็นออกมา มันจะมีสิ่งที่เป็นสีสันข่าว มีสิ่งที่ประชาชนควรรู้ และสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ ในบางข่าวมันจะมีคำถามที่เราสงสัย ต้องหาคำตอบให้ได้ คุยตามข่าว คือ คำตอบ เราเชื่อว่าคนดูจะได้อะไรจากรายการนี้เยอะ”


และวันนี้เราพาไปพบมุมรีแลกซ์ของ “จิ๊บ-วรรณศิริ” กับ 5 ภาพยนตร์ประทับใจ 5 ภาพยนตร์ที่วนดูกี่รอบก็ไม่เคยเบื่อ พร้อมแง่คิดบางมุมที่ได้เรียนรู้จากเรื่องราวของภาพยนตร์ เรื่องแรก Sliding Doors เป็นหนังเก่าตั้งแต่ปี 1998 ดูครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำไมคนเขียนบทเก่งจัง จับเอาเหตุการณ์เล็กๆ แค่เสี้ยววินาที กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของคนๆหนึ่งได้ หนังวางโครงเรื่อง 2 เหตุการณ์ซ้อนกันอยู่ เหตุการณ์แรกคือ นางเอกก้าวเท้าขึ้นรถไฟทันก่อนที่ประตูรถไฟจะปิด กับ เหตุการณ์ที่สอง เธอขึ้นรถไฟไม่ทัน แค่นิดเดียวมันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตหลายด้าน เรื่องที่สอง Up in the Air เป็นเรื่องของหนุ่มโสด รักอิสระ ไม่ชอบการผูกมัด และมองว่าความสัมพันธ์คือภาระ หนังพูดถึงชีวิตหนุ่มสาวออฟฟิศหลังภาวะเศรษฐกิจสหรัฐผ่านอาชีพของพระเอก ที่รับจ้างบริษัทต่างๆของสหรัฐในการไล่คนออก ชอบบทพูดของตัวละครเป็นธรรมชาติ เป็นหนังที่ตั้งคำถามถึงชีวิตมนุษย์ได้ดี ทำให้เราหันมามองคุณค่าของความสัมพันธ์ มีประโยคที่พระเอกตั้งคำถามว่า “ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิต คุณอยู่คนเดียวบ้างไหม?” ดูเสร็จกลับมาย้อนคิดถึงชีวิตตัวเอง จริงๆเราอยู่คนเดียวได้นะ แต่ถ้ามีคนข้างๆอยู่คอยแบ่งปันความรู้สึกทั้งดีใจและเสียใจ มันน่าจะดีกว่า

เรื่องที่สาม Closer หนังเก่าตั้งแต่ปี 2004 มั่นใจว่าคนไม่ค่อยชอบหรอก แต่เราชอบ ส่วนตัวชอบหนังที่จับต้องได้ ดูจริง สัมผัสได้ ตัวละครมีขาวมีดำ มีความเป็นมนุษย์ ดูผ่านๆเหมือนจะเป็นหนังรัก แต่พอดูจบแล้วสะเทือนอารมณ์ เพราะมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ทุกอย่างมันดูจริงไปหมด ตัวละครมีแค่ 4 ตัว บทพูดเยอะแต่ฉลาด ไม่มีฉากแอคชั่น หนังไม่หวือหวา ไปเรื่อยๆแต่มีอะไรสะกิดความรู้สึกได้ตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดูแล้วดูอีก ไม่ล้าสมัย เหมือนเป็นบททดสอบความคิดและมุมมองในแต่ละช่วงวัยของเรา ซึ่งดูกี่ครั้งมันไม่เหมือนเดิม เรื่องที่สี่ Misaeng เป็นซีรีย์เกาหลี Misaeng (มิแซง) ภาษาเกาหลี แปลว่า ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ เป็นการเปรียบเปรยกับการเล่นโกะในสถานการณ์ที่เราโดนล้อมไว้ทุกทาง แทบเอาตัวไม่รอด จะทำยังไงให้เราหลุดจากสถานการณ์ตอนนั้นได้ ตัวเอกชื่อ “จางกือเร” เป็นพนักงานออฟฟิศที่ไม่มีความสามารถอะไรเลย นอกจากเล่นโกะ หรือ หมากล้อมเก่ง มีโอกาสเข้ามาเป็นพนักงานฝึกหัดในบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลี แต่ด้วยความที่มีทุกอย่างไม่เท่าคนอื่น มันเลยกลายเป็นแบบทดสอบครั้งใหญ่ในชีวิตการทำงาน สิ่งเดียวที่กือเรมีและได้มาจากการเล่นหมากล้อมก็คือ “สติและความพยายามที่ไม่มีขีดจำกัด” ดูจบแล้วอิ่มใจ ทำให้เราเห็นวิธีการแก้ปัญหา การจัดการแบบมีสติ ความสัมพันธ์ การแข่งขัน ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เนื้อหาดี บทดี ชอบเพราะมันดูจริงไปหมด ทุกตัวละครเห็นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง มีขาว เทา ดำ ชอบข้อคิดที่เอามาปรับใช้ได้จริง

เรื่องสุดท้าย It’s Okay, That’s Love เป็นซีรีย์เกาหลีอีกเรื่อง ตอนแรกดูเพราะชอบพระเอกนางเอก คนเขียนบท แต่พอดูแล้ว ดีมากๆดีทุกอย่าง พล็อตเรื่อง เนื้อหา บท เพลงประกอบ นักแสดง โลเกชั่น ภาพสวย ดูแล้วดูอีก เป็นซีรีย์เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิต ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ได้ไกลตัวเราและเราอาจจะเป็นคนหนึ่งซึ่งมีความไม่ปกติทางจิตอยู่ก็ได้ พระเอกเป็นนักเขียนนิยายชื่อดัง นางเอกเป็นหมอจิตเวช เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าการรักษาผู้ป่วยจิตเวท สิ่งสำคัญนอกจากความตั้งใจของผู้ป่วยแล้ว ยังอยู่ที่กำลังใจจากคนรอบข้าง มันเหมาะกับสังคมในยุคนี้มาก ชอบการนำเสนอที่ทำให้เห็นว่าผู้ที่มีอาการทางจิตก็คือคนป่วยทั่วไปที่รักษาให้หายได้ มันต่างจากละครไทยหรือหนังไทยที่ชอบสร้างภาพให้ตัวละครที่มีภาวะทางจิตอยู่ในภาพจำที่มีบุคลิก พฤติกรรม แบบคลุ้มคลั่ง อาละวาด ซึ่งเป็นภาพลบอย่างเดียว

เข้าชม 1,062 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม