ปัญหาพ่อแม่ใช้ลูกเป็นตัวประกัน สะท้อนอนาคตลูกโตมาซึมเศร้า-ก้าวร้าว

เรื่องในวงการบันเทิงก็มีสาระและให้สิ่งที่ควรรู้ อย่างกรณีปัญหาครอบครัวระหว่างนักร้องหนุ่มเอเชีย “ไมค์ พิรัชต์” และนางแบบสาว “ซาร่า คาซิงกินี” ที่ทำให้คนเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายครอบครัว มากขึ้น

และล่าสุดกับเรื่องราวดราม่าในโซเชียลกับการไลฟ์ของ “ซาร่า” ที่ลูกชายวัย 6 ขวบ “น้องแม็กซ์เวลล์” พูดว่า “แดดดี้เตะจากคอนโด” ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการเลี้ยงลูกของผู้ปกครอง 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างผู้เป็นแม่ หลายคำวิพากษ์วิจารณ์เชื่อมโยงมาถึงภาวะจิตใจของลูกชายตอนนี้และในอนาคต ซึ่งรายการ “โหนกระแส” ได้เชิญ “นพ. ธีรนันท์ มิตรภานนท์” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผอ.รพ.แพทย์รังสิต มาพูดถึงกรณีดังกล่าว เพื่อสะท้อนไปถึงพ่อแม่ที่มีปัญหาและมีลูกเป็นตัวกลางในการต่อรอง

กับคำถามที่หลาย ๆ คน สงสัยว่าเด็ก 5-6 ขวบ สามารถมีความคิดในการตอบคำถาม อย่างคำว่า “เตะจากคอนโดทำไม” ได้เองหรือไม่
นพ. ธีรนันท์ เผยว่า ส่วนใหญ่คำพูดลักษณะแปลกๆ แบบนี้ มักจะเกิดจากที่เด็กได้ยินมาจากคนรอบข้าง แต่ที่น่ากลัวคือการที่เด็กรู้สึกว่าหนึ่งในคนที่รักที่สุด ไล่ออกจากบ้าน มันปวดร้าวมากเลย แต่เด็กอาจไม่ได้แสดงออก จะเก็บไว้ข้างในไม่ได้แสดงออกให้เห็นเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งผลพวงต่อไปจากการสิ่งนี้ คือถ้าผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ไปใส่เรื่องราวไม่ดี สำหรับบุคคลในครอบครัวตัวเอง เด็กจะโตขึ้น โดยมีจิตใจแบบลบ ๆ และมีพฤติกรรม อาทิ ซึมเศร้า วิตกกังวล ก้าวร้าว หรืออีกกลุ่มคือบุคลิกภาพที่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม ฉะนั้นจำเป็นมากที่จะเน้นเรื่องต้องสื่อสารทางบวก ไม่เอาอันไม่ดี ต้องห้ามเสี้ยมเด็ก



ส่วนเรื่องการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตเด็กมีผลกับเด็กมั้ยนั้น นพ.ธีรนันท์ ยอมรับว่าการย้ายโรงเรียน หรือการย้ายที่อยู่ สร้างความเครียดของเด็ก เด็กจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัว แต่การเรีนยนโรงเรียนถูกหรือแพง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของเด็ก เพราะหลัก ๆ แล้ว คุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดู การอยู่กับคุณแม่หรือคุณพ่อตลอด เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

นพ. ธีรนันท์ เสริมอีกว่า เด็กจะมีการเลียนแบบพฤติกรรม พ่อและแม่ อย่างเด็กผู้ชายส่วนใหญ่เขาจะก๊อปปี้คุณพ่อ โตมาอยากเหมือนคุณพ่อ พอโมเดลที่เขาก๊อปและคิดไว้ มันหายไป สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือเด็กอาจจะไปก๊อปคุณพ่อ ในมุมสายตาคนอื่นที่อิมพุตใส่เข้ามา โตขึ้น เด็กจะมีแนวโน้มที่จะก๊อปปี้คุณพ่อในความอิมพุตนั้น การแก้ไขที่ทำได้ดีที่สุด อยากให้คุณพ่อมีเวลาไปเล่นกับลูก พาไปเที่ยวให้มีความสัมพันธ์ที่ดี พอเด็กมีความสุข มีความผูกพันที่ดี เด็กจะไปในทางที่ดีเอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงมุมมองเชิงลบ ต้องเปลี่ยนมุมมองเชิงลบให้เป็นบวกให้ได้

“นพ. ธีรนันท์ มิตรภานนท์” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผอ.รพ.แพทย์รังสิต


จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ยังฝากถึงคนดูแลเด็ก ว่า จริงๆ แล้วการที่คนเรามีการแสดงออกไม่ว่าจะก้าวร้าวหรือไม่ก็เกิดจากความเครียด ความไม่พอใจ หรืออึดอัดอยู่ข้างในเหมือนกัน ปกติคุณหมอจะแนะนำว่าคนดูแล อย่างในกรณีนี้คือคุณแม่ควรได้รับการพูดคุยกับจิตแพทย์ ประเมินเบื้องต้นก่อน เพราะรู้ ๆ กันอยู่ว่ามีความเครียดสะสมต่อเนื่อง ต้องประเมิน สมมติยกตัวอย่างในกรณีที่เป็นซึมเศร้าเขาจะมองทุกอย่างลบไปหมด ซื้อดอกไม้ให้ก็มองลบว่าทำไมช่อเล็ก เหมือนแก้วน้ำที่เติมไม่เต็ม คนรอบข้างก็จะซึมเศร้าตาม เวลาใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่พอใจ ยังไงก็ไม่เติมไม่เต็ม และไม่มีความสุขได้

นพ.ธีรนันท์ ยังบอกถึงหลายคนที่มองว่า มีการจับเด็กเป็นตัวประกัน ว่าการจับลูกเป็นตัวประกัน ในครอบครัวคือเพื่อเป็นอำนาจในการต่อรอง ตรงนี้เรียกว่าการพยายามรบเร้า ต่อรอง หรือป่วนประสาท เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ หรือแม่ยอมในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ
.
จากการสัมภาษณ์ของนพ.ธีรนันท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สะท้อนให้เห็ว่าผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นพ่อ หรือแม่ หรือบุคคลในครอบครัว ต้องมีการใส่ใจในการแสดงทัศนคติในทางลบให้เด็กได้รับรู้ .-ไนน์เอ็นเตอร์เทน


เข้าชม 477 ครั้ง
ดูข่าวเพิ่มเติม