
สิ้นสุดคดีการต่อสู้ที่ยาวนาน
19 ปี ของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง 151 คน
ด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้บริษัทเหมืองแร่ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 36 ล้านบาท และพลิกฟื้นสภาพลำห้วยคลิตี้ให้กลับคืนดังเดิม
ซึ่งพวกเขาก็ยังต้องรอความสดใสของลำห้วยต่อไป??
ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังที่รออยู่ปลายอุโมงค์
สำหรับคดีของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง เมื่อวันที่
11 ก.ย.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้บริษัทเหมืองแร่และพวกรวม 7 ราย ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนกว่า
36 ล้านบาท ให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานละเมิด พ.ร.บ.
ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ปล่อยปละละเลยให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้
จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถใช้สอยแหล่งน้ำได้ พร้อมให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ให้กลับคืนเป็นไปตามมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐวางกฎเกณฑ์ไว้
แต่…หากย้อนเวลากลับไป…. อดีตลำห้วยคลิตี้เคยใสสะอาด ลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันและไหลจากเหนือลงใต้ผ่านบ้านคลิตี้บน
-คลิตี้ล่าง ก่อนลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ลำห้วยอันเป็นแหล่งน้ำใช้สอยของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน
แต่แล้ว…จากการศึกษาสำรวจสภาพการแพร่กระจายของสารตะกั่วรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
เมื่อปี 2538 พบการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำค่อนข้างสูง ซึ่งอาจมีผลจากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ตะกั่วเกิดผุพังสลายตัวและ
อาจเกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ภายหลังโรงแต่งแร่จากเหมืองตะกั่ว
เริ่มดำเนินการมาร่วม 8 ปี ชาวกะเหรี่ยงในชุมชนหลายคนพบเห็นการปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วย
และต่อมา พบว่าน้ำในลำห้วยมีความผิดปกติ
“โคลนดินใต้ท้องน้ำมีมากผิดปกติ
มีกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรง น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น
เมื่อดื่มเข้าไปทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ
เมื่ออาบน้ำหรือเล่นน้ำจะเกิดอาการคันตามตัว ปลาน้อยใหญ่ลอยตายเกลื่อนลำห้วย”
ชาวบ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยผิดปกติ ปวดหัว ท้องเสีย
ชาตามร่างกาย บางรายตาบอดสนิท และเริ่มทยอยเสียชีวิต หญิงตั้งครรภ์แท้งบุตร
ทารกเกิดใหม่บางรายมีอาการผิดปกติด้านร่างกายและสมอง
สัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านล้มตายลงจำนวนมาก ทำให้ชาวคลิตี้ล่างต้องรวมตัวกันส่งตัวแทนชุมชนไปเจรจากับโรงแต่งแร่หลายครั้ง
รวมทั้งปรึกษากับหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา จึงได้เข้าร้องเรียนต่อกรมควบคุมมลพิษให้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบว่า
มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ตะกอนดิน ท้องน้ำ และสัตว์น้ำ
ขณะที่แพทย์จากกรมอนามัยตรวจเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างหาระดับสารตะกั่วในเลือด พบว่า
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีระดับสารตะกั่วในเลือดสูง กระทั่งในปี 2544 เหมืองแร่ตะกั่วได้ปิดตัวลงอย่างถาวร
จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550
ชาวบ้านคลิตี้ล่างรวม 151 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย)
จำกัด กับพวกรวม 7 คน ฐานละเมิดตาม พ.ร.บ.
ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านทั้ง
151 คน รวมกว่า 36 ล้านบาท แต่จำเลยก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องอ้างว่าการรั่วไหลของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่เป็นเหตุสุดวิสัย
และผู้บริหารของบริษัทไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวร่วมกับตัวบริษัทที่เป็นนิติบุคคล
แต่ถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาก็ได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ผู้เสียหาย
151 คน จำนวนกว่า 36 ล้านบาท!
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 คดี ที่เป็นชัยชนะของผู้เสียหาย
คือ คดีแพ่งที่ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2558 ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 20 ล้านบาท ให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน และให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภค
บริโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการ และคดีปกครองที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน
จึงพิพากษากำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
โดยต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก
และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน
พร้อมทั้งปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายต่อสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเงินรวมเกือบ
4 ล้านบาท
แม้สองคดีแรกจะถึงที่สุดของศาลไปแล้วก่อนหน้านี้
ตั้งแต่ปี 2558 และ 2559 ชาวคลิตี้ก็ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวของผู้รับผิดชอบในการเริ่มต้นฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำสั่งศาล
…ฉะนั้น คำสั่งศาลฎีกาในครั้งนี้ จะถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดกระบวนการเริ่มต้น!!
