เหล่าศิลปินเทิดทูนพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีองค์อัครศิลปิน

เหล่าศิลปินเทิดทูนพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีองค์อัครศิลปิน
      นี่คือลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บนโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับแรก ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2489 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และเป็นเพลงสุดท้ายที่ยังทรงปรับแก้ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ ดังที่ ผศ. ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ ทายาทของพระสหายคู่พระทัยทางดนตรี เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ที่ถวายงานดนตรีใกล้ชิดตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก ในฐานะสมาชิกวงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” ยกย่องว่าทรงเป็น “Perfectionist หรือ นักสมบูรณ์แบบ” ที่อยากให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุดเสมอ
 
     พระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ ไม่เพียงนำมาซึ่งความปลาบปลื้มภูมิใจของเหล่าพสกนิกรไทยที่มีพระเจ้าอยู่หัวเป็นอัจฉริยศิลปิน แต่ที่สำคัญกว่าคือเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทั้ง 48 เพลง ไม่เพียงให้ความเพลิดเพลิน ปลอบขวัญ สร้างพลัง และก่อเกิดแรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดความรักความห่วงใยจากพ่อสู่ลูกๆ ทั้งแผ่นดินด้วย เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่พระราชทานแก่ผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ
 
     ความเป็นอัจฉริยศิลปินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เพียงความเป็นเลิศในการเรียงร้อยตัวโน้ตอย่างมีชั้นเชิงเท่านั้น แต่ยังทรงทำให้เพลงพระราชนิพนธ์กลายเป็นเพลงที่เหนือกาลเวลาด้วย
 
     วิรัช อยู่ถาวร ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ถวายงานดนตรีหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับมอบหมายจากสำนักราชเลขาธิการ ให้บันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ที่ถูกต้องตามต้นฉบับที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ซึ่งเขาก็ตั้งใจจะถวายงานชิ้นนี้ในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2559 แต่ก็สายเกินไป
 
      ด้าน พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โปรดิวเซอร์อัลบั้ม “เพลงพระราชนิพนธ์ H.M. Blues” เมื่อปี 2549 เผยว่านอกจากความภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานเพื่อในหลวงที่ทรงเป็นที่รักยิ่งแล้ว ยังตั้งปณิธานว่าจะเผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์สืบต่อไป ให้สมกับความโชคดีที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
เข้าชม 30 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม