“หมอพรทิพย์” ตั้งปมสงสัยหลายข้อ ชี้หลังตำรวจแถลงข่าวคดี “แตงโม” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ พร้อมผลักดันปฏิรูปกระบวนการ

แม้ตำรวจจะแถลงสรุปคดี “แตงโม” ในวันนี้ (26 เม.ย. 2565) แต่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาได้ให้สัมภาษณ์ใน “รายการดราม่าวันนี้” ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ค่ำวานนี้ (25 เม.ย. 2565) ยืนยันจะยังเดินหน้าทำหน้าที่ในฐานะ กมธ. เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นเรื่องกระทบสิทธิ์ โดยเฉพาะสิทธิ์ของผู้ตาย ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า “แตงโม” ไม่น่าจะตกเรือด้านท้าย พร้อมย้อนปมความล่าช้าของกลุ่มเพื่อนบนเรือ และความล่าช้าของตำรวจในการตรวจแอลกอฮอล์คนบนเรือ ที่สำคัญไม่ดำเนินการตรวจเรือทันที เสมือนติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก อีกทั้งผู้เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญเรื่องข้อมูล “แตงโม” ปัสสาวะท้ายเรือ กระทั่งเวลาล่วงเลยถึงการชันสูตรศพรอบ 2


“หมอพรทิพย์” ย้ำอีกครั้งว่าเคยระบุว่ามีแผลเฉพาะ ต่างกับการชันสูตรรอบแรกที่ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ โดยแผลเฉพาะมีลักษณะคล้ายก้างปลา เป็นรอยตื้นเฉียงลงทั้งด้านขวาและซ้ายบริเวณต้นขาและน่องราวข้างละ 10 แผล จากการศึกษาตามตำราแผลลักษณะดังกล่าวเข้าได้กับใบพัดเรือ ประกอบกับห้วงเวลาที่ผ่านมา ตนได้ไปพักผ่อนทั้งยังได้นั่งเรือร่วมกับวิศวกรและกัปตันเรือ ทำให้ทราบลักษณะการไหลเวียนน้ำ พร้อมชี้ชัดว่าหากมีคนตกท้ายเรือ ร่างจะไม่มุดใต้น้ำเนื่องจากน้ำจะบานออก

“หมอพรทิพย์” ยืนยันว่าหากตำรวจแถลงข่าวจบจะทำหน้าที่ในฐานะ กมธ. เต็มที่โดยเฉพาะประเด็นแผลเฉพาะลักษณะคล้ายก้างปลา ทั้งยังตั้งคำถามถึงทนายความและแม่ผู้เสียชีวิตว่าทำไมออกมาเกรี้ยวกราด ทั้ง ๆ ที่ตนกำลังทำหน้าที่แทน “แตงโม”


“หมอพรทิพย์” ยังกล่าวถึงแผลลักษณะเป็นรูขนาดราวหัวแม่มือบริเวณน่องซ้าย ระบุว่าเห็นด้วยตาตรงกับ “ไทด์ เอกพัน” ที่เคยกล่าวถึงบาดแผลนี้ พร้อมวิจารณ์การทำงานของตำรวจระบุว่า ตำรวจไทยไม่ค่อยดูการผ่าศพ และตั้งคำถามถึงตำรวจว่า ไม่ทราบว่าดูรูปบาดแผลสักเท่าไหร่ ? นำบาดแผลไปจำลองหรือไม่ ? วอนผู้เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งตั้งธง ควรนำสิ่งต่าง ๆ มาวิเคราะห์ก่อน ย้ำทุกอย่างต้องตอบคำถามได้

“หมอพรทิพย์” ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ “นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุว่า พยานหลักฐานควรรวบรวมให้เร็วและสมบูรณ์ในครั้งเดียวไม่ใช่ 5 ครั้ง ถ้ารวบรวม 4 – 5 ครั้งต้องตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมไม่เห็นในครั้งแรก ที่ผ่านมาแสดงความห่วงใยตลอดเรื่องสภาพของหลักฐานไม่ได้อยู่ในหลักการสากลที่เรียกว่า chain of custody หรือห่วงโซ่ของวัตถุพยานที่จะต้องไม่มีใครเข้าไปแตะไปยุ่ง ซึ่งกรณีนี้เป็นตัวอย่างของพยานที่ได้มาในแต่ละครั้งความน่าเชื่อถือจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ หากไม่อยู่ในห่วงโซ่ของวัตถุพยาน ตนยืนยันว่าเห็นช่องว่างในการทำงานของตำรวจจนเป็นปัญหาให้นำไปสู่กระบวนการปฏิรูป และในฐานะประชนทั่วไปมองว่า ไม่เคยมีคดีใดที่มีผู้ที่พยายามจะช่วยกันหาความจริงมากเท่านี้มาก่อนและเชื่อว่าหลังตำรวจแถลงข่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ.-ไนน์เอ็นเตอร์เทน

เข้าชม 612 ครั้ง


ดูข่าวเพิ่มเติม